สืบ เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เกิดปัญหาคุณภาพน้ำในคลองสารภีและแม่น้ำปราจีนบุรี ที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำออกเพื่อให้ชาวนาได้เก็บเกี่ยวข้าว กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรี หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะทำงานตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปลาตาย และคณะทำงานกำหนดมาตรการและแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่คลอง สารภี ในปี 2550
จากการศึกษาประตูระบาย น้ำคลองสารภีเป็นประตูระบายน้ำแบบบานโค้ง เมื่อเปิดประตูระบายน้ำจะต้องเปิดระบายจากท้องน้ำ จึงทำให้ตะกอนของเสียที่สะสมอยู่ท้องน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและสัตว์ ในปี 2550 ชลประทานจังหวัดปราจีนบุรีได้ปรับปรุงบานประตูระบายน้ำเป็นแบบชนิดบานตรง 2 ชั้น เพื่อควบคุมการระบายน้ำและป้องกันการฟุ้งกระจายของตะกอนลงสู่แม่น้ำ ทำให้การเปิดประตูระบายน้ำคลองสารภีในปี 2550 และ 2551 ที่ผ่านมาไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีและสัตว์น้ำตาม ธรรมชาติรวมถึงการเลี้ยงปลาในกระชัง และคณะทำงานเฉพาะกิจได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในทุก 3 วัน และได้ดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติแบบชั่วคราวบริเวณ ท้ายประตูระบายน้ำคลองสารภี จำนวน 1 สถานี และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติแบบถาวรบริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี จำนวน 3 สถานี เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำในทุกๆ 30 นาที ซึ่งสามารถเรียกดูข้อมูลได้จากเว็บไซด์กรมควบคุมมลพิษ www.pcd.go.th และได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลคุณภาพน้ำให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการบริหารการเปิด – ปิดประตูระบายน้ำ นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงให้งดการระบายน้ำทิ้งจนกว่าการ ระบายน้ำออกจากทุ่งสารภีจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ชลประทานจังหวัดปราจีนบุรี ได้จัดเตรียมและติดตั้งเครื่องเติมอากาศบริเวณท้ายประตูระบายน้ำ พร้อมทั้งเติมสารสกัดชีวภาพเหนือประตูระบายน้ำเพื่อช่วยในการบำบัดและฟื้นฟู คุณภาพน้ำ กรณีพบว่าค่าออกซิเจนละลายในน้ำบริเวณท้ายประตูระบายน้ำต่ำกว่า 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
จากผลการ ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2550 การเปิดประตูระบายน้ำคลองสารภีได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ไม่พบปัญหาปลาในธรรมชาติและปลาในกระชังตายเหมือนปีที่ผ่านมา ในปีนี้ก็เช่นกันทุกหน่วยงาน มีการประสานงานและเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เกษตรกรเองให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมทั้งมีการทยอยขายปลาในกระชังไปบางส่วนด้วยเช่นกัน ซึ่งจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้ไม่พบปลาธรรมชาติและปลาในกระชังรวม ทั้งสิ่งมีชีวิตในน้ำทั่วไปตาย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษจะได้นำวิธีการดำเนินงาน ที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้ไปใช้ในพื้นที่ต่อ ๆ ไปด้วย
ข่าวสารสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ฉบับที่ 5/2552
10 กุมภาพันธ์ 2552