ส.อ.ท. ลุยศึกษาโครงสร้างค่าจ้างแรงงาน เพื่อกำหนดอัตราค่าแรงทั้งระบบให้มีค่าแรงที่แตกต่างกันตามทักษะฝีมือเหมือน ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงานปั้นแรงงาน 1 คนให้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 3 คนทำงานรวมกัน…
นาย สมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการปรับโครงสร้างค่าแรงในภาคอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของแรงงาน ว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้เริ่มมีการศึกษาโครงสร้างค่าแรงในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และเรื่องความต้องการแรงงาน รวมทั้งลักษณะงานของแรงงานในแต่ละกลุ่มอาชีพ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายค่าแรง เหมือนกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานของประเทศต่างๆทั่วโลก ที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
“ส.อ.ท. คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถสรุปข้อมูลได้ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การปรับค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เพื่อดึงให้แรงงานที่มีอยู่ในระบบมีความต้องการอยู่ในระบบจ้างงานต่อไป ไม่หันเหไปประกอบอาชีพอื่น และยังกระตุ้นให้แรงงานที่จบการศึกษามีความต้องการเข้ามาทำงานในภาคแรงงาน มากขึ้น”
ขณะ เดียวกัน ในระยะยาว ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาแรงงานที่ไร้ฝีมือ ให้เป็นแรงงานมีฝีมือให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ซึ่ง ส.อ.ท. ได้เริ่มศึกษาการปรับโครงสร้างค่าแรงในกลุ่มช่างฝีมือ 10 กลุ่มคือ กลุ่มช่างก่อสร้างไม้ และปูน ช่างเชื่อม และช่างไฟฟ้า เป็นต้น คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีช่างฝีมือเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าแรงก็จะปรับสูงขึ้นตามความสามารถด้วย
นาย สมพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานในกลุ่มช่างทองและช่างอัญมณี มีการทดสอบวัดระดับฝีมือ เพื่อจ่ายค่าแรงตามความสามารถในการทำงานแล้ว ส่วนกลุ่มช่างไม้ จะมีการทดสอบวัดระดับฝีมือแรงงาน โดยแบ่งเป็นระดับๆ เช่น ระดับ 1 สามารถวัดไม้ได้ ระดับ 2 ใช้เครื่องมือช่างได้ และระดับ 3 แค่เห็นแบบก่อสร้าง แล้วก็สามารถทำงานได้เลย ซึ่งในแต่ละระดับจะได้ค่าแรงต่างกันไป
นาย วัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาห-กรรมเครื่องนุ่งห่มไทยกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกสิ่งทอในปีหน้าจะไม่มีการเติบโต โดยมูลค่าการส่งออกจะคงที่ระดับ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอขาดแคลนแรงงาน 30,000 ราย ทำให้ไม่ สามารถรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาจากทั่วโลกได้ ในปีหน้ากลุ่มสิ่งทอจะยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีก 60,000 ราย
“กลุ่ม อุตสาหกรรมอาหารของ ส.อ.ท. ได้เข้าหารือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานของ 1 คน ให้สามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น จากเดิมที่มีความสามารถ ทำได้เพียงด้านเดียวโดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถแรงงานให้แรงงาน 1 คน ให้สามารถทำงานได้ เท่ากับ 3 คน หรือเท่ากับสามารถเพิ่มสัดส่วนแรงงานได้ 30% ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้